หวัดแมว เป็นโรคที่พบได้บ่อยในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสจำเพาะในแมว อาจจะทำให้ร่างกายอ่อนแอจนติดเชื้อโรคและป่วยเป็นหวัดได้ แม้ว่าสาเหตุจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรืออาจติดจากแบคทีเรียคนละชนิดกับคน แต่เมื่อแมวเป็นหวัดแล้วก็อาจติดต่อในหมู่แมวกันเองได้ ซึ่งโรคนี้เป็นได้ในแมวเด็กและแมวที่โตเต็มวัย คนเลี้ยงแมวควรศึกษาอาการ การป้องกัน และวิธีการรักษาหวัดแมว เพื่อที่จะได้ดูแลแมวให้มีสุขภาพข็งแรง

หวัดแมว เกิดจากอะไร

หวัดแมว (Cat flu) เป็นโรคทางเดินหายใจที่พบได้บ่อยในแมว เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทำให้แมวมีอาการหวัด การเป็นโรคหวัดของน้องแมว จะมาจาก 2 สาเหตุด้วยกัน สาเหตุแรกคือ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งจะมีเชื้อไวรัส 2 ตัวที่พบได้มากที่สุดในกลุ่มน้องแมวคือ เชื้อไวรัสเฮอร์ปี Feline Herpes Virus (FHV) และ เชื้อไวรัสแคลลิซิFeline Calici Virus (FCV) ส่วนสาเหตุที่สองคือ เกิดจากการติดเชื้อแทรกซ้อนของแบคทีเรียเช่น คลาไมเดีย (Chlamydophila felis) ไมโครพลาสมา (Mycoplasma) บอร์เดเทลลา (Bordetella bronchiseptica)

โรคทางเดินหายใจส่วนต้นในแมว หรือโรคหวัดแมวเป็นโรคทางเดินหายใจที่พบบ่อยในแมว โดยมักพบในแมวที่ไม่เคยได้รับวัคซีน หรือแมวที่มีความเครียดจากสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง การเลี้ยงรวมกันหนาแน่น ถูกจำกัดอยู่ในบริเวณแออัด แมวที่อยู่ในช่วงเลี้ยงลูก แมวที่มีประวัติความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจเป็นโรคเรื้อรังหรือกำลังป่วย

ระยะของอาการ

อาการหวัดแมวที่พบมี 2 ระยะ คือ ระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง ระยะเฉียบพลันพบว่าแมวจะแสดงอาการภายใน 10 วัน มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ในขณะที่ระยะเรื้อรังจะแสดงอาการมากกว่า 10 วัน
โดยทั่วไปมักพบว่าแมวมีอาการซึมและเบื่ออาหาร เนื่องจากสูญเสียความสามารถในการรับกลิ่นและรส โดยอาจพบร่วมกับการมีแผลในปาก มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก น้ำตาใสหรือเป็นน้ำเหลืองปนเลือด หรือน้ำลายไหลมาก ส่วนใหญ่ระยะเรื้อรังนี้มักพบการติดเชื้อร่วมกันหลายชนิด อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากอาการ จะสามารถจำแนกเชื้อที่ก่อโรคได้คร่าว ๆ เท่านั้น
เช่น FHV-1 มักทำให้มีอาการหวัดแมวเฉียบพลันร่วมกับความผิดปกติของเยื่อบุตา ในลูกแมวระยะก่อนหย่านมอาจถึงขั้นตาบอดหรือเสียชีวิตฉับพลัน จากการติดเชื้อในกระแสเลือดและแม่แมวอาจทำให้แท้งได้แต่พบน้อย อาการจำเพาะของเชื้อนี้คือการพบแผลที่กระจกตา ลักษณะเป็น dendritic ulcer (หรือ tree-branch ulcer) หากเป็นระยะเรื้อรังจะพบกระจกตาบวม ยูเวียอักเสบ ร่วมกับอาการทางระบบหายใจ
แมวที่ติด FCV มักพบแผลหลุมในช่องปาก และมีอาการของระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน ความรุนแรงของอาการที่พบจะขึ้นกับความรุนแรงของเชื้อ ส่วนมากหากเป็นติดเชื้อที่ไม่รุนแรง แมวมักจะไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการแต่สามารถหายได้เองภายใน 7-14 วัน ส่วนน้อยมากที่พบการติดเชื้อที่รุนแรงสูง (virulent systemic FCV, VS-FCV) ที่จะทำให้มีอาการหน้าและขาบวม มีจุดเลือดออกตามตัว อุจจาระเป็นเลือด เดินกะเผลกเฉียบพลัน (limping syndrome) ตับอ่อนและปอดอักเสบรุนแรง เกิดเลือดแข็งตัวในหลอดเลือด (DIC) มีการอักเสบทั่วร่างกาย (SIRs) และมีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 30-50
เชื้อแบคทีเรีย B. bronchiseptica และ P. multocida ทั้งสองเชื้อนี้มักก่อโรคหวัดแมวแบบไม่รุนแรง และสามารถหายได้เอง 10 วัน อาการที่พบมีได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่อาการซึม ไอ จนถึงขั้นปอดบวมรุนแรง, C. felis มักพบบ่อยในลูกแมวอายุน้อยกว่า 1 ปี มักไม่มีอาการของระบบทางเดินหายใจ แต่จะทำให้เยื่อบุตาอักเสบเรื้อรัง หนังตาที่สามบวมอักเสบ และที่เป็นลักษณะจำเพาะของเชื้อคือเยื่อบุตาขาวบวม (chemosis) ส่วน Mycoplasma spp. มักพบเป็นการติดเชื้อแทรกซ้อนเท่านั้น

วินิจฉัยและการรักษาโรคหวัดแมว

การเก็บตัวอย่างจาก tracheal wash จะสามารถบอกภาวะอักเสบได้ โดยจะพบ neutrophilic leukocytosis with left shift ประมาณร้อยละ 40-60 และสามารถใช้วิเคราะห์เพื่อแยกชนิดเชื้อได้โดยนำไปทำ ELISA หรือใช้ชุดตรวจ antigen ที่จะตรวจพบการติดเชื้อในระยะ viremia ได้ สำหรับเชื้อแบคทีเรียจะใช้วิธีเพาะเลี้ยงเชื้อ ส่วนการตรวจหา Mycoplasma spp. ต้องใช้เทคนิคพิเศษในการเพาะเชื้อหรือตรวจทาง PCR แต่ทั้งนี้ควรวินิจฉัยแยกโรคอื่นที่อาจเป็นไปได้ด้วย เช่น พยาธิหนอนหัวใจ โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้ออื่น ๆ การสำลัก เนื้องอก และการอักเสบแบบไม่มีการติดเชื้อ เป็นต้น

หวัดแมว

การรักษาโรคหวัดแมว

1. แก้ไขภาวะขาดน้ำ สมดุลกรด-ด่าง และสมดุลอิเล็กโทรไลท์
เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุทางเดินหายใจและลดความข้นของสารคัดหลั่ง ควรเฝ้าระวังภาวะน้ำเกินที่จะทำให้ปอดบวมน้ำตามมา ควรตรวจและแก้ไขภาวะเสียสมดุลอิเล็กโทรไลท์ โดยอาจสงสัยภาวะโพแทสเซียมต่ำในแมวที่แสดงอาการอ่อนแรง ภาวะไบคาร์บอเนตต่ำในแมวที่น้ำลายไหลมาก เป็นต้น
 
2. ให้แมวได้รับพลังงานเพียงพอ 
ไม่ควรให้แมวอดอาหารนานเกิน 3 วัน อาจให้อาหารที่ย่อยง่าย เพิ่มความน่ากินโดยทำให้อาหารอุ่น เติมอาหารเสริมเพื่อเพิ่มกลิ่นให้อาหาร หรือการให้ยากระตุ้นความอยากอาหาร เช่น Mirtazapine 1.87-3.75 mg/ตัว PO q72h, Diazepam 0.05-0.15 mg/kg IV, Cyproheptadine 2-4 mg/ตัว PO q12-24h หากให้ยาแล้วยังไม่สามารถกินอาหารได้เลย อาจต้องพิจารณาสอดท่อให้อาหาร
 
3. ให้ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน
ควรเลือกให้เมื่อพบอาการที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อ การเลือกชนิดของยาควรพิจารณาตามผลการเพาะเชื้อและความไวต่อยาเป็นหลัก หรือเบื้องต้นควรให้ยาที่ออกฤทธิ์ได้ดีในระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากยามีความจำเพาะต่อแบคทีเรียแกรมลบและจำกัดการติดเชื้อ Mycoplasma spp. และ Bordetella spp. ได้
อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้ในลูกแมว เนื่องจากยามีฤทธิ์กดการทำงานของกระดูก และเลือกใช้ยา amoxicillin-clavulanic acid 10-20 mg/kg PO q8h แทน โดยให้กินยาปฏิชีวนะติดต่อกัน 4 สัปดาห์ และให้กินต่ออีก 1-2 สัปดาห์หลังไม่พบอาการแล้ว แต่หากอาการไม่ดีขึ้นอาจเปลี่ยนไปใช้ยาในกลุ่ม fluoroquinolones หรือ 3th generation cephalosporin แทน
 
4. ยาละลายเสมหะและขับเสมหะ
เช่น Bromhexine ออกฤทธิ์โดยการเพิ่มปริมาณน้ำในสารคัดหลั่ง ทำให้สารคัดหลั่งมีความหนืดลดลง (เหมาะกับสารคัดหลั่งที่ไม่ใช่ purulent มากกว่า) และทำให้มี ciliary clearance มากขึ้น เมื่อใช้ไป 2-3 วัน จะมีผลทำให้มี IgA และ IgG มาที่ทางเดินหายใจมากขึ้น ช่วยส่งเสริมการออกฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะมากขึ้น ในแมวจะใช้ในขนาด 2 mg/kg PO/SC q12h, ส่วน Acetylcysteine
มักให้ในลักษณะการดมยา โดยยาจะไปสลายพันธะ disulphide ของ mucoprotein ดังนั้นแม้จะเป็นสารคัดหลั่งแบบ purulent ที่ประกอบด้วย DNA fiber จำนวนมาก ก็ยังสามารถออกฤทธิ์ลดความหนืดได้ ขนาดที่แนะนำสำหรับดมยาคือ 50 mg/kg นาน 30 นาที ทุก 12 ชั่วโมง
 
5. ยาขยายหลอดลม
ให้เพื่อหวังผลลดการหดตัวของกล้ามเนื้อหลอดลมจากการอักเสบเป็นหลัก ยาบางกลุ่มสามารถลดการบวมอักเสบของเยื่อบุ หรือเพิ่ม mucocilliary clearance ได้ โดยปกติหลังการรักษาหวัดแมวควรมีอาการดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์
6. ยาลดการอักเสบ
เพื่อลดการหดตัวของกล้ามเนื้อหลอดลม ลดการบวมของเยื่อบุ และลดการสร้างสารคัดหลั่ง นอกจากนี้ยังพบว่าการให้ Prednisolone ทั้งแบบกินและดมยา จะช่วยส่งเสริมการออกฤทธิ์ของ albuterol มากขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่สัตว์เริ่มมีความทนต่อ Albuterol และเมื่อให้ร่วมกับยาแก้ไอ Trimeprazine จะให้ผลลดอาการไอได้ดียิ่งขึ้น หรืออาจพิจารณาให้กลุ่ม NSAIDs หลังจากที่ได้แก้ไขภาวะขาดน้ำแล้ว เช่น Meloxicam 0.2 mg/kg PO ในวันแรก จากนั้นปรับเป็น 0.1 mg/kg 2 วัน และปรับเป็น 0.025 mg/kg แบบวันเว้นวัน
7. ยาแก้ไอที่ออกฤทธิ์กับระบบประสาทส่วนกลางโดยเฉพาะ
นิยมให้กรณี non-productive cough โดยยากลุ่มนี้แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่มที่เป็นสารเสพติด (narcotics) ที่ลดอาการไอได้ดีในสุนัขแต่อาจทำให้ซึมลง ส่วนในแมวทำให้เกิดภาวะ hyperexcitement กล้ามเนื้อสั่นกระตุกและชัก ส่วนยากลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ไม่เป็นสารเสพติด (non-narcotics) ได้แก่ Diphenhydramine hydrochloride ที่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วง ซึม, Dextromethorphan ยาไม่มีผลทำให้ง่วงซึม ไม่กดการทำงานของ ciliary clearance แต่เนื่องจากให้ผลลดไอได้น้อยกว่ากลุ่ม narcotics จึงจำเป็นต้องใช้ยาขนาดที่สูงและความถี่บ่อย คือ 2-4 mg/kg PO q8-12h, Trimeprazine tartrate ในแมวจะเป็นการใช้ยานอกข้อบ่งใช้ ให้ในขนาด 0.5 mg/kg PO q12h เมื่อให้ร่วมกับ Prednisolone จะให้ผลได้ดียิ่งขึ้น
8. การพ่นยา
ยาและสารที่นิยมพ่นได้แก่ normal saline เนื่องจากช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุทางเดินหายใจ และช่วยลดความข้นหนืดของสารคัดหลั่งได้ดี โดยอาจให้หลังหรือร่วมกับยาอื่น ๆ เช่น 1) ยาลดอักเสบ ที่นิยมใช้ คือ  Fluticasone เนื่องจากพบว่ายาจะถูกดูดซึมน้อยกว่า ทำให้มีผลทางระบบน้อยกว่า 2) ยาขยายหลอดลมกลุ่ม adrenergic agonists เช่น Terbutaline, Albuterol
แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคหัวใจและความดันสูง เนื่องจากจะทำให้เกิด arrhythmia และเสียชีวิตได้ 3) ยาละลายเสมหะ เช่น acetylcysteine แต่ควรป้ายตาแมวก่อนดมยา เนื่องจากตัวยาจะระคายเคืองต่อเนื้อเยื่ออ่อนมาก ส่วนยาปฏิชีวนะสำหรับดมยานั้นไม่แนะนำ เนื่องจากขนาดยาที่ได้รับอาจไม่ถึงระดับที่จะกำจัดเชื้อได้ มีโอกาสที่ยาจะตกค้าง จนเป็นสาเหตุของปัญหาเชื้อดื้อยาในสถานพยาบาลได้
9. ยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน
พบว่าการให้ feline IFN-omega 1 MU/kg SC ทุกวันหรือวันเว้นวัน หรือ 50,000-100,000 IU PO ทุกวัน หรือเจือจางยา 10 MU กับ 0.9%NaCl 19 ml หยอดตา 2 หยด วันละ 5 ครั้ง ติดต่อกัน 10 วัน ร่วมกับการให้ L-lysine 250 mg PO ทุก 12 ชั่วโมง หรือ 400 mg PO วันละครั้ง จะช่วยให้อาการดีขึ้น แม้จะยังคงพบการแพร่เชื้อได้อยู่ นอกจากนี้พบว่าหากให้ IFN-omega สัมผัสแผลในปากนาน 30 วินาที ยังช่วยให้การหายของแผลดีขึ้น

การป้องกันโรคหวัดแมว

1. เมื่อนำแมวใหม่มาเลี้ยง ควรแยกเลี้ยงกับแมวตัวอื่น ๆ เพื่อสังเกตอาการหวัดแมวและอาการป่วยอื่นๆ อย่างน้อย 14 วัน ควรลดปัจจัยที่อาจทำให้แมวเครียด เช่น ลดความหนาแน่นของการเลี้ยง และจัดตำแหน่งการวางถาดน้ำ ชามอาหาร หรือกระบะทราย
2. ทำวัคซีนป้องกันเมื่ออายุครบ 8 สัปดาห์ กระตุ้นทุก 2 – 3 สัปดาห์ จนครบ 3 เข็ม จากนั้นทำวัคซีนเป็นประจำทุกปี เพื่อลดความรุนแรงและระยะเวลาแสดงอาการของโรค และทำวัคซีนให้แม่แมวก่อนผสมพันธุ์ จะช่วยให้ภูมิคุ้มกันของแม่ในนมน้ำเหลืองสูงเพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อ หรือการแสดงอาการที่รุนแรงในลูกแมวได้
3. หลังพบการติดเชื้อหวัดแมว ให้เฝ้าระวังโรคอื่น ๆ ที่อาจตามมาได้ เช่น การติดเชื้อ parvovirus, การแสดงอาการของ FIP และให้แยกเลี้ยงแมวที่หายจากโรคแล้วอย่างน้อย 2 – 3 สัปดาห์

สัญญาณเตือนโรคหวัดแมว

  • ซึม เบื่ออาหาร อาการเริ่มต้นที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเริ่มมีอาการหวัดแมวหรือป่วยป่วย แม้จะยังไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นโรคอะไร แต่ก็เป็นสัญญาณที่ต้องให้ความสำคัญและคอยสังเกตเอาไว้
  • จาม มีน้ำมูก โรคหวัดแมวอาจพบว่ามี น้ำมูกใส หรือข้นเขียว มีอาการจาม ซึ่งแล้วแต่ความรุนแรงของโรค อาการเหล่านี้จะเป็นตัวบ่งบอกว่าทางเดินหายใจมีปัญหาแล้ว
  • ไอ โรคหวัดแมวที่ป่วยอาจมีอาการไอ ซึ่งพบทั้งอาการไอร่วมกับมีเสมหะหรือไม่มีเสมหะก็ได้ ซึ่งนี่อาจหมายถึงการเกิดคอ จนถึงปอดและหลอดลมอักเสบได้
  • น้ำตาไหล ในกรณีที่เป็นโรคหวัดแมวแบบรุนแรงขึ้นอาจพบว่ามีขี้ตาเยอะ ตาขาวบวมแดง ตาบวมจนปิด น้ำตาไหล
  • ลิ้น เหงือก และช่องปากอักเสบ แมวที่ป่วยโรคหวัดแมวอาจจะกินอาหารลดลง หรือไม่กินอาหาร นั่นก็เพราะเมื่อลองเปิดปากแมวเป็นหวัดดู อาจพบว่ามีแผลหลุมในช่องปาก ที่เป็นสาเหตุให้แมวที่ป่วยด้วยโรคหวัดแมวกินน้อยลงได้

 

 

ติดตามอ่านเรื่องเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้ที่ ennisassociatesinc.com
สนับสนุนโดย  ufabet369